ZoomIn: กับดักซ้อนวิกฤต เศรษฐกิจไทย’68 อ่วม! เครื่องยนต์หลักเริ่มล้า

16 พฤษภาคม 2568
ZoomIn: กับดักซ้อนวิกฤต เศรษฐกิจไทย’68 อ่วม! เครื่องยนต์หลักเริ่มล้า

แม้ต้นปี 2568 เศรษฐกิจไทยจะเริ่มต้นด้วยแรงส่งของภาคส่งออก ที่เร่งตัวขึ้นก่อนต้องกำแพงภาษีสหรัฐฯ จะเริ่มถาโถมเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปี นอกจากนี้ ยังมีความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 2569 และระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไป จนการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ รวมถึงการเมืองที่ยังไร้เสถียรภาพ และกดดันเศรษฐกิจไทยปีนี้ ทำให้หลายสำนักวิจัยมองว่า GDP ปีนี้จะโตได้เพียง 1.5-2.1%

ท่ามกลางปัจจัยภายนอกจากที่ถาโถมเข้ามา และปัจจัยในประเทศเหล่านี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องมองหา “แรงพยุง” ทั้งจากนโยบายการเงิน การคลัง การใช้จ่ายภายในประเทศ และการเร่งรัดเมกะโปรเจกต์ที่อาจกลายเป็น “เครื่องยนต์สำรอง” ของปีนี้

*ม.หอการค้าไทย คาด GDP ปี 68 โต 1.5-2%

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้ จะมีอัตราการขยายตัวลดลงอย่างชัดเจนจากปี 2567 โดยมาเหลืออยู่ที่ 1.5-2%

แม้ว่าในไตรมาสแรกของปี 2568 จะยังขยายตัวได้ดี ซึ่งสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จะแถลงประมาณเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 1 ปี 68 และทั้งปี 68 อย่างเป็นทางการ ในวันจันทร์ที่ 19 พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 2.9-3.2% เนื่องจากการส่งออกที่เติบโตมากกว่าปกติ จากผลของประเทศคู่ค้าต่างเร่งนำเข้าก่อนที่กำแพงภาษีสหรัฐฯ จะเริ่มส่งผลกระทบ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวเล็กน้อย เพื่อรอดูผลกระทบสงครามการค้า ส่วนการบริโภคภาคเอกชน และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยแผ่นดินไหวช่วงปลายเดือนมี.ค.68 นั้น ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวช่วงไตรมาส 2 สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวม หลังเกิดเหตุการณ์จนถึงช่วงสงกรานต์ที่ปรับลดลงจากปีก่อน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นายอนุสรณ์ มองว่า มาจาก 4 ปัจจัยด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. เสถียรภาพทางการเมือง ความต่อเนื่องของรัฐบาล เพราะจะส่งผลต่อการจัดทำงบประมาณปี 2569 อาจทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐสะดุดได้
  2. ผลกระทบจากสงครามการค้า ซึ่งทำเกิดการชะลอตัวของภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยว
  3. หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ภาคการบริโภคเติบโตแบบมีขีดจำกัด
  4. การขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจภายในและเศรษฐกิจโลก ทำให้การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวไม่เต็มที่ และกิจการบางส่วนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และผลิตสินค้าที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

สำหรับเครื่องยนต์ที่ยังเหลือพอจะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จำเป็นต้องอาศัยมาตรการทางการเงิน และนโยบายการเงิน มาช่วยประคับประคอง โดยยังสามารถผ่อนคลายทางการเงิน และลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้

นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจด้วยงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ มีมาตรการและกระตุ้นให้เอกชนลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจอุตสาหกรรม ให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ นายอนุสรณ์ มองว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงและอาจเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันได้ นั่นคือ ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงเฉพาะของประเทศไทย ซึ่งการไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง จะทำให้ไทยเสียเปรียบในการเจรจา และไม่สามารถเริ่มการเจรจากับสหรัฐฯ ได้ตามกรอบเวลาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย ส่วนผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ นั้น เป็นผลกระทบที่หลายประเทศทั่วโลกต่างเผชิญเช่นเดียวกัน

ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน คงไม่สามารถแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ หรือพักชำระหนี้เพียงด้านเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญว่าจะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่มีรายได้สูงขึ้น ด้วยการทำให้ GDP โตขึ้น และเกิดการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ซึ่งต้องอาศัยนโยบายและมาตรการต่าง ๆ จากรัฐบาล

พร้อมกันนี้ สิ่งที่อยากนำเสนอรัฐบาลเพื่อพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือ การทำโครงการผ่าน SML กระจายเงินไปยังภาคชนบท ลงทุนการบริหารจัดการน้ำ มีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้สามารถเติบโตได้ใกล้เคียงเป้าหมาย รักษาระดับการจ้างงานโดยรวมไม่ให้ลดลง มุ่งมาตรการความช่วยเหลือไปที่กลุ่มคน กลุ่มธุรกิจ K ขาล่าง ที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบซ้ำเติมอีก

*KTB คาด GDP ปี 68 โต 0.7-2% ขึ้นกับผลเจรจาสหรัฐฯ

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ Chief Economist Krungthai COMPASS มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทย ซึ่งแม้ในไตรมาสแรกปีนี้ จะเห็นมูลค่าการส่งออกที่สามารถเติบโตได้ดี แต่นั่นเป็นเพราะหลายประเทศต่างเร่งนำเข้าในช่วงนี้ ก่อนที่มาตรการขึ้นภาษีสินค้าของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ หากในท้ายสุดแล้ว ไทยสามารถเจรจาต่อรองภาษีกับสหรัฐฯ ได้ ทำให้สินค้าไทยถูกเรียกเก็บในอัตรา 10% (Universal tariff) ก็จะมีผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปีนี้ ขยายตัวได้ราว 2% แต่หากการเจรจาไม่เป็นผล และสินค้าไทยถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราสูงที่ 36% (Reciprocal tariff) ก็คาดว่าปีนี้ GDP จะขยายตัวได้ราว 0.7-1.4% เท่านั้น
“กรณีสหรัฐขึ้นภาษีสูงสุดเป็นการชั่วคราว เพื่อบังคับให้ทุกคนมาเจรจา จะทำให้ GDP ไทยลดลงกว่าที่ประมาณการไว้ เราคิดว่า ถ้าเราเจอภาษี 36% เหมือนประเทศอื่น GDP จะโตแค่ 0.7-1.4% แต่ถ้าสถานการณ์ดีกว่า คือโดนเก็บแค่ 10% เรายังมองไว้ที่ โต 2%” นายพชรพจน์ กล่าว

พร้อมมองว่า ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คงเป็นเรื่องการใช้จ่ายในประเทศ และการบริโภคภาคเอกชนที่ยังสามารถเติบโตได้ ขณะที่ความคาดหวังให้ภาคท่องเที่ยวมาช่วยเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น คงทำได้ไม่มากเท่าเดิม เนื่องจากมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน จึงทำให้ตั้งแต่ต้นปีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังต่ำกว่าเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เนื่องจากสินค้าจีนพึ่งพาตลาดส่งออกสหรัฐฯ ไม่มากเท่าในอดีต ซึ่งแม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงไปบ้าง แต่คงไม่มีผลกระทบต่อการลดการเดินทางไปต่างประเทศ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด คือ นักท่องเที่ยวจีนเริ่มเปลี่ยนทิศทางจากท่องเที่ยวไทยไปเป็นญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม
“ช่วงที่ผ่านมา เห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่ปีนี้ ก็ยังเหลืออีกหลายเดือน ถ้าสามารถสร้างความเชื่อมั่น ความเข้าใจในเรื่องความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวกลับคืนมาได้ ช่วงที่เหลือปีนี้ ตัวเลขคงจะตีตื้นขึ้น ซึ่งนี่เป็นอีกตัวหนึ่ง ที่ผิดไปจากเป้า…ดังนั้นประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีน สำคัญมากกว่า และเป็นปัจจัยที่ไทยน่าจะแก้ไขได้เร็วกว่า ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็นเรื่องนักท่องเที่ยวจีนจะชะลอการเดินทางหรือไม่ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี” นายพชรพจน์ กล่าว

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ระบุว่า ผลกระทบที่ไทยต้องเร่งรับมือ ได้แก่ 1) ผลระยะยาวในรูปแบบของ “แผลเป็นทางเศรษฐกิจ” ที่ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า มูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาท และ 2) ผลกระทบต่อธุรกิจ SMEs ไทยกว่า 4,990 ราย ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีเพิ่มเติมของสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วน, เหล็ก, อลูมิเนียม และเครื่องใช้ไฟฟ้า

โดยในระยะสั้น มาตรการรับมือ อาทิ 1.ป้องกันการใช้ไทยเป็นฐานส่งออกสินค้าจากประเทศที่ถูกเก็บภาษีไปยังสหรัฐฯ (transshipment) 2.คุ้มครองตลาดในประเทศจากการทะลักเข้ามาของสินค้าต่างชาติ ที่ไม่สามารถส่งออกไปยังตลาดหลัก 3.สนับสนุนสภาพคล่องและการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

นายพชรพจน์ กล่าวต่อว่า การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อเป็นการประคองเศรษฐกิจจากผลกระทบดังกล่าวนั้น อาจไม่ใช่มาตรการที่เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจเสียทีเดียว เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจของทุกประเทศต่างชะลอลงเหมือนกันหมด อันเนื่องจากความไม่แน่นอนที่ยังมีสูง ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการเร่งด่วน ควรเป็นเรื่องของงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับช่วยเหลือภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องดำเนินการไม่ต่างจากไทยเช่นกัน
“ทุกประเทศมองว่าถ้าเป็นกรณีแย่จริง ๆ สหรัฐขึ้นอัตราภาษีสูง แต่ละประเทศต้องเตรียมงบประมาณไว้ช่วยเหลือธุรกิจ และอุตสาหกรรมที่โดนผลกระทบโดยตรง ซึ่งอาจจะช่วยชั่วคราว ขึ้นกับสหรัฐจะคงภาษีอัตราสูงไว้นานแค่ไหน เพราะถ้าขึ้นในระดับ 30-40% ก็คงมีผลกระทบแน่ แต่จะกี่เดือน ภาครัฐต้องเข้ามาช่วย ดังนั้นคงต้องเตรียมงบประมาณเพื่อการนี้ไว้ก่อน การเข้ามาช่วยเป็นการเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ คงเป็นสิ่งที่หลายประเทศต้องทำไม่ต่างจากเรา” นายพชรพจน์ ระบุ
ส่วนแผนการกู้เงินภายใต้พื้นที่การคลังที่เริ่มมีจำกัดนั้น นายพชรพจน์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นโจทย์สำคัญ การกู้เงินจะต้องนำมาใช้กับโครงการที่เกิดประโยชน์ หรือจำเป็นจริง ๆ ต่อการสร้างเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศ โดยพิจารณาควบคู่ไปกับนโยบายอื่น ๆ ที่รัฐบาลเตรียมไว้เพื่อการดูแลเศรษฐกิจ
“ถ้าจะกู้ คงต้องมาใช้ในโครงการที่จำเป็นจริง ๆ สร้างเศรษฐกิจในอนาคต เป็นสิ่งที่อยากให้เกิด แต่ ณ ตอนนี้มีปัจจัยเร่งด่วนเรื่องภาษีทรัมป์ที่เข้ามา ความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลในบางจุดชั่วคราวก่อน ตรงนี้คงเป็นจุดที่รัฐบาลต้องดูภาพรวม สถานการณ์ตอนนี้ ต่างจากที่วางแผนไว้พอสมควร” นายพชรพจน์ ระบุ

*กนง. ประเมิน GDP โต 1.3-2%

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่า นโยบายการค้าสหรัฐฯ และการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัย ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่ความไม่แน่นอนสูงมาก เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มปรับลดลง สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อ และผลกระทบจะทอดยาวไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าการผลิตโลกที่ทำให้ประสิทธิภาพลดลงในระยะยาว

โดย กนง.ประเมินภาพเศรษฐกิจภายใต้หลายฉากทัศน์ ซึ่งฉากทัศน์แรก การเจรจาการค้ามีความยืดเยื้อและภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ใกล้เคียงกับปัจจุบัน (reference scenario) อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 68 เติบโตราว 2% แต่ฉากทัศน์ที่สงครามการค้ารุนแรงมาก และภาษีนำเข้าของสหรัฐสูง (alternative scenario) เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจเติบโตได้แค่ 1.3%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวลดลง และมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น จากนโยบายการค้าโลก และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ มองไปข้างหน้า นโยบายการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 68 และความไม่แน่นอนยังสูงมาก

*คลัง คาด GDP โตได้ 1.6-2.6%

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ 2.1% (ช่วง 1.6 – 2.6%) สาเหตุหลักมาจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยมูลค่าการส่งออก คาดว่าจะขยายตัว 2.3% ซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ

การลงทุนภาครัฐขยายตัว จากการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีงบประมาณ 2568 ต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2569

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวดี ตามกำลังซื้อในประเทศ และรายได้ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม การประกาศเลื่อนการบังคับใช้นโยบาย Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน นับจากวันที่ 9 เม.ย.68 และกรณียกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ได้บรรเทาผลกระทบของการส่งออกของไทยลงบางส่วน

*SCB EIC คาด GDP โต 1.5% ภาษี “ทรัมป์” สะเทือนส่งออก H2/68

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2568 ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน อาจขยายตัวได้ราว 3% ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่เร่งตัวก่อนการขึ้นภาษี การบริโภคภาคเอกชน และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ

ทั้งนี้ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยอาจขยายตัวเพียง 1.5% ในปี 68 (เดิมมอง 2.4%) จากการส่งออกที่จะหดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง และการลงทุนภาคเอกชนที่แผนการลงทุนใหม่ ตลอดจนการบริโภคภาคเอกชนอาจชะลอออกไป ตามแนวโน้มสงครามการค้าที่รุนแรงกว่าคาด และความไม่แน่นอนสูงของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวม

*KKP คาด 3 เครื่องยนต์แผ่ว กด GDP เหลือโต 1.7%

KKP Research ระบุว่า ในปี 2568 นี้ 3 เครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย ทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร กำลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงพร้อม ๆ กัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

  1. แรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวกำลังจะหายไปในปีนี้ โดยในช่วงที่ผ่านมา แนวโน้มการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวกำลังชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ยังไม่กลับมา
  2. ภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่ในทิศทางติดลบมาโดยตลอดอยู่แล้ว ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงเพิ่มเติม จากการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นหลัก
  3. ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากข้อมูลการส่งออกภาคเกษตรที่หดตัวลงแรง โดยเฉพาะข้าว หลังอินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาวได้ในปีนี้ รายได้ที่ชะลอตัวลง สงผลให้ภาคเศรษฐกิจในประเทศทั้งการบริโภค และการลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัวลงตาม

เครื่องยนต์ที่ชะลอตัวลงทั้ง 3 บวกกับผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลให้ KKP Research มองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ จะโตได้ในระดับต่ำที่ 1.7% ภายใต้สมมติฐานว่าระดับภาษีที่สหรัฐฯ คิดกับไทยจะค้างอยู่ที่ 10% ตลอดทั้งปี และเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงเล็กน้อย แต่ไม่ถึงกับเข้าสู่ภาวะถดถอย

ในกรณีนี้ผลกระทบหลักที่ไทยจะได้รับ คือ การส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงอย่างมากในช่วงครึ่งหลังของปี และมีโอกาสหดตัวหลังจากที่ได้เร่งตัวขึ้นแรงในช่วงครึ่งแรก ตามการเร่งส่งออกก่อนการขึ้นภาษี และจะส่งผลให้การส่งออกทั้งปีโตต่ำกว่า 1%

*ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มอง GDP โต 1.4% โดยยังไม่รวมผลเจรจาสหรัฐฯ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประกาศเพิ่มภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) จากสหรัฐฯ ในอัตราที่สูงเกินคาดเป็นการเดินเกมเพื่อเจรจา ประเมินว่า GDP ไทย ได้รับผลกระทบราว 1% ทำให้ประมาณการ GDP ใหม่อยู่ที่ 1.4% ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ 2.4% ซึ่งการประเมินดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลของการเจรจากับสหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกปี 68 จะหดตัว -0.5% จากเดิมที่มองไว้ 2.5%

ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรก ยังสามารถเติบโตได้บ้าง แต่ครึ่งปีหลังแทบไม่เติบโต อย่างไรก็ดี เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ระดับที่เรียกว่าถดถอย ทั้งนี้ ไทยมีพื้นที่ด้านนโยบายการเงินและการคลังจำกัด ถ้าจะแก้ให้ตรงจุดก็ต้องแก้ที่นโยบายการค้า ส่วนนโยบายการเงินการคลัง จะเป็นตัวเสริมในการช่วยบรรเทาผลกระทบภาคธุรกิจของไทย

 

 


แหล่งที่มา : อินโฟเควสท์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.